เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ (Policy Lab) ครั้งที่ 1

วันพุธที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2566
image

      วันที่ 24 ตุลาคม 2566 เวลา 09.00 น. นางพูลศรี เกียรติมณีรัตน์ ผู้อำนวยการส่วนวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ผู้แทนกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ (Policy Lab) ครั้งที่ 1 หัวข้อ “การประชุมระดมความคิดเห็น เพื่อทำความเข้าใจสภาพปัญหาและกำหนดโจทย์ที่ชัดเจนในการออกแบบนโยบายหรือมาตรการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content ด้านวัฒนธรรม เพื่อสร้าง Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ" พร้อมร่วมเสนอความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริม Digital Content ร่วมกับผู้แทนจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เเละเยาวชนคนรุ่นใหม่ ณ ห้องแคนา โรงแรมรามาการ์เดนส์ ถนนวิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ โดยมีนายภุชงค์ โนดไทยสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคมเเห่งชาติ เป็นประธานการประชุม 

     สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในการจัดประชุมครั้งนี้ ได้ ตระหนักและให้ความสำคัญในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมให้ อยู่ในรูปแบบเนื้อหาดิจิทัล หรือ Digital Content เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในแนวทางการธำรงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของไทยให้สามารถคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยเมื่อปี พ.ศ. 2564 สดช. ได้รับการสนับสนุน งบประมาณจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินโครงการส่งเสริมการถ่ายทอด มรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital Cultural Heritage) โดยมีกิจกรรมสำคัญ 2 ส่วน ดังนี้

      1. กิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ หรือ Hackathon ด้านศิลปวัฒนธรรม โดย มีนิสิต นักศึกษา จากสถาบันการศึกษาจากทุกภาคของประเทศไทย สมัครเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน ทั้งสิ้น 55 ทีม ทั้งนี้ ทีมผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน ๒๐ ทีม ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมค่ายฝึกอบรม (Boot Camp) กิจกรรมการสร้างสรรค์ผลงาน ตลอดจนกิจกรรมนำเสนอ ผลงาน (Pitching) รวมทั้งได้จัดกิจกรรมการประกาศผลรางวัล และมอบถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้กับทีมที่ ได้รับรางวัลชนะเลิศ

      2. กิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติโดยผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ (Policy Lab) เพื่อออกแบบและจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางและมาตรการในการขยายผลการส่งเสริม การถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้อยู่ในรูปแบบ Digital Content ในรูปแบบ ที่ยั่งยืน โดยมียุทธศาสตร์สำคัญ ดังนี้

  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการส่งเสริมการบริหารจัดการมรดกวัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัล
  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมการจัดเก็บมรดกวัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัล 9 
  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการพัฒนาสินค้า/บริการทางวัฒนธรรม จากการสร้างสรรค์ต่อยอดมรดกวัฒนธรรมที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล
  • ยุทธศาสตร์ที่ 4 เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ มรดกวัฒนธรรมที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล และสินค้า บริการทางวัฒนธรรม

     การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการรับฟัง และทำความเข้าใจ โอกาส และข้อจำกัดของการพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content จากผู้เกี่ยวข้องร่วมกัน ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ภาคประชาชน เพื่อร่วมกันกำหนดโจทย์ที่ชัดเจน ในการออกแบบนโยบาย/มาตรการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content ด้านวัฒนธรรม เพื่อสร้าง Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ

…ขอขอบคุณภาพ/ข่าว : ส่วนวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว